header
  หน้าหลัก | จังหวัดกาญจนบุรี | จังหวัดราชบุรี | จังหวัดสมุทรสงคราม | ภาพถ่ายโครงการ| แผนที่โครงการ |  

 

    วัตถุประสงค์โครงการ

    ขอบเขตงานวิจัย
    ภูมิอากาศ
    คณะผู้จัดทำโครงการ
    ดาวโหลดข้อมูล
 
ก1. ชุมชนถนนปากแพรก

ที่ตั้ง: ตำบลบ้านเหนือ อำเภอเมือง จังหวัดกาญจนบุรี
ละติจูด 14° 1' 16.46 เหนือ 
ลองจิจูด 99° 31' 44.52" ตะวันออก

ประวัติโดยสังเขป

เมืองกาญจนบุรีแต่เดิมนั้นตั้งอยู่ริมแม่น้ำแควใหญ่ที่บ้านท่าเสา ตำบลลาดหญ้า หลังจากสิ้นสงครามเก้าทัพเมื่อแรกตั้งกรุงรัตนโกสินทร์แล้ว พระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลก รัชกาลที่1 จึงโปรดเกล้าโปรดกระหม่อมให้ย้ายเมืองลงมาตั้งที่บ้านปากแพรก ซึ่งเป็นจุดบรรจบของแม่น้ำแควน้อยและแม่น้ำแควใหญ่ เนื่องจากเป็นชัยภูมิที่ดีทั้งทางน้ำและทางบกในการตั้งรับพม่า ที่จะผ่านไปยังกรุงเทพมหานคร ต่อมาในปี พ.ศ. 2374 พระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 3 โปรดเกล้าโปรดกระหม่อม ให้พระยากาญจนบุรีเจ้าเมืองเป็นแม่กองเกณฑ์คนมอญมาทำอิฐและเกณฑ์ชาวเมืองกาญจนบุรีและราชบุรีให้สร้างป้อมและกำแพงเมืองขึ้นล้อมรอบเมืองชั้นใน ตัวเมืองตั้งอยู่ระหว่างวัดเหนือ (วัดเทวสังฆาราม) และวัดใต้ (วัดไชยชุมพลชนะสงคราม) พื้นที่ในเมืองเป็นรูปสี่เหลี่ยมผืนผ้าหันหน้าเข้าสู่ลำน้ำแควใหญ่ กว้าง 210 เมตร ยาวตามแม่น้ำ 480 เมตร มีป้อมขนาดใหญ่ที่กึ่งกลางกำแพงทางด้านหน้าเมือง 1 ป้อม มีป้อมขนาดเล็กอยู่กึ่งกลางกำแพงด้านท้ายเมืองอีก 1 ป้อม มีประตูเมือง 6 ประตู ประตูช่องกุดอีก 2 ประตู รวมเป็น 8 ประตู และในช่วงเวลาเดียวกันนี้ มีการตัดถนนเลียบกำแพงเมืองที่ขนานไปกับแม่น้ำแควใหญ ่เพื่อเชื่อมระหว่างชุมชนวัดเหนือและชุมชนวัดใต้ ถนนที่ตัดขึ้นใหม่เรียกว่า ถนนปากแพรก นอกจากการสร้างเมืองแล้ว พระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 3 ทรงพระราชทานพระบรมราชานุญาตให้ชาวจีนและชาวเวียดนามเข้ามาตั้งถิ่นฐานอยู่นอกกำแพงเมืองรวมทั้งบนถนนปากแพรกอีกด้วย โดยชาวจีนและชาวเวียดนามส่วนใหญ่ประกอบอาชีพค้าขายและเกษตรกรรม หลังจากนั้น ชุมชนถนนปากแพรกกลายเป็นชุมชนการค้าขาย ที่สำคัญของเมือง มีการสร้างบ้านเดี่ยวของคหบดี เรือนแถวไม้และตึกแถวค้าขายเพิ่มมากขึ้น ลักษณะทางสถาปัตยกรรมของอาคารมีหลายหลากรูปแบบ ทั้งแบบจีน ตะวันตก และสมัยใหม่ เช่น บ้านนิวาสแสนสุข บ้านอำนวยโชค บ้านรัตนกุสุมภ์ บ้านฮั้วฮง ร้านศรีจำนงพานิช และโรงแรมกาญจนบุรี เป็นต้น ถนนปากแพรกจึงเป็นถนนที่สามารถสะท้อนลักษณะเฉพาะตัวของย่านการค้าของชุมชนชาวจีนและเวียดนามได้เป็นอย่างดี

ปัจจุบัน ชุมชนปากแพรกได้รับการส่งเสริมจากหลายภาคส่วนในการอนุรักษ์และพัฒนาในฐานะแหล่งมรดกทางประวัติศาสตร์และสถาปัตยกรรมของเมือง รวมทั้งกำแพงเมืองกาญจนบุรีที่กรมศิลปากรประกาศขึ้นทะเบียนเป็นโบราณสถานสำคัญของชาติเมื่อปี พ.ศ. 2478
Copyright 2013 by KMITL. All rights reserved.