header
  หน้าหลัก | จังหวัดกาญจนบุรี | จังหวัดราชบุรี | จังหวัดสมุทรสงคราม | ภาพถ่ายโครงการ| แผนที่โครงการ |  

 

    วัตถุประสงค์โครงการ

    ขอบเขตงานวิจัย
    ภูมิอากาศ
    คณะผู้จัดทำโครงการ
    ดาวโหลดข้อมูล
 
ก5. วัดศรีโลหะราษฎร์บำรุง์

ที่ตั้ง: เลขที่ 89 ตำบลท่าม่วง อำเภอท่าม่วง จังหวัดกาญจนบุรี
ละติจูด 13° 57' 38.67" เหนือ
ลองจิจูด  99° 38' 3.20" ตะวันออก

ประวัติโดยสังเขป

วัดศรีโลหะราษฎร์บำรุงสร้างขึ้นในปี พ.ศ.2330 ในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลก รัชกาลที่ 1 โดยชาวจีนชื่อ “โหละ” และชาวบ้านเรียกว่า “วัดตาเจ๊กโหละ” ต่อมาพระศรีสวัสดิ์ ผู้ครองเมืองศรีสวัสดิ์ กาญจนบุรี ซึ่งมีหน้าที่เก็บส่วยให้หลวง ได้มาตั้งเตาถลุงแร่รวมโลหะที่ริมท่าน้ำใกล้วัด ได้เปลี่ยนชื่อของวัดเป็น วัดศรีโลหะราษฎร์บำรุง (แต่ชาวบ้านก็คงเรียกกันว่าวัดศรีโหละ)

หลังจากนั้น ในปี พ.ศ.2446 รัชสมัยพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 5 พระภิกษุพรต จนฺทโสภ (ร.ท.พรต โยธาพิทักษ์) นายทหารมหาดเล็กรักษาพระองค์จากวัดตะเคียน (วัดมหาพฤฒาราม) ได้มาจำพรรษาและได้เป็นเจ้าอาวาสวัดศรีโลหะราษฎร์บำรุง และตำแหน่งเจ้าคณะอำเภอท่าม่วง เป็นเจ้าอาวาสรูปที่ 6 ของวัด (ดำรงตำแหน่งเจ้าอาวาสระหว่างปี พ.ศ.2447–2480) มีสมณศักดิ์ “พระครูยติวัตรวิบูลย์” และคราวพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 5 เสด็จประพาส น้ำตกไทรโยค ทรงหยุดเรือพระที่นั่งที่หน้าท่าวัดศรีโลหะราษฎร์บำรุง เพื่อทรงสดับพระสงฆ์สวด ชัยมงคลคาถา และสมเด็จสมณเจ้ากรมพระวชิรญาณวโรรส เคยเสด็จมาวัดนี้ครั้งหนึ่ง รวมทั้ง พระวรวงศ์เธอพระองค์เจ้าอาทิตย์ทิพยอาภา เป็นประธานคณะผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์ ได้ทรงอุปถัมภ์วัดนี้ จนสิ้นพระชนม์ชีพ เนื่องจากมีความสนิทกับพระครูยติวัตรวิบูลย์ (ร.ท. พรต) มาก่อน และได้สร้างขันน้ำมนต์สัมฤทธิ์ขนาดใหญ จารึกพระนามพร้อมตำแหน่งและตราประจำพระองค ์ถวายไว้แก่วัดด้วย ในการบูรณะอุโบสถเก่าซึ่งชำรุดทรุดโทรมในสมัยพระครูยติวัตรวิบูลย์ ได้สร้างรูปปั้น จำลองพระรูปปั้นของพระวรวงศ์เธอพระองค์เจ้าอาทิตย์ทิพยอาภา ไว้ที่หน้าประตูเข้าอุโบสถเป็นที่ระลึก

ต่อมา พ.ศ.2494 พระครูโสภณประชานารถ (นารถ นาคเสโน) ได้ดำรงตำแหน่งเจ้าอาวาสรูปที่ 9 (มรณภาพแล้ว) และได้ทำการบูรณะสร้างถาวรวัตถุต่างๆ เป็นจำนวนมาก เช่น กุฏิเจ้าอาวาส กุฏิสงฆ์ ฌาปณสถาน ตึกอิ่มจิตต์ กำแพงรอบวัด หอระฆัง โรงเรียนวัดศรีโลหะ ศาลาการเปรียญ และพระอุโบสถ จัตุรมุขที่ภายในประดิษฐานพระพุทธรูปองค์ใหญ่ โดยบริเวณฐานพระพุทธรูปมีพระลัญจกร ของสมเด็จพระบรมโอรสาธิราชสยามมกุฎราชกุมาร ผนังภายในพระอุโบสถตกแต่งด้วยไม้แกะสลัก เป็นเรื่องพุทธประวัติ ซึ่งช่างแกะสลัก ต้องมาอยู่อาศัยที่วัดและใช้เวลาหลายปีในการแกะสลักจนแล้วเสร็จ

Copyright 2013 by KMITL. All rights reserved.