header
  หน้าหลัก | จังหวัดกาญจนบุรี | จังหวัดราชบุรี | จังหวัดสมุทรสงคราม | ภาพถ่ายโครงการ| แผนที่โครงการ |  

 

    วัตถุประสงค์โครงการ

    ขอบเขตงานวิจัย
    ภูมิอากาศ
    คณะผู้จัดทำโครงการ
    ดาวโหลดข้อมูล
 
ร8. พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ ราชบุรี

ที่ตั้ง:ถนนวรเดช ตำบลหน้าเมือง อำเภอเมือง จังหวัดราชบุรี
ละติจูด 13° 32' 28.07" เหนือ
ลองจิจูด 99° 49' 3.68" ตะวันออก
รูปแบบสถาปัตยกรรม

ประวัติโดยสังเขป

พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ ราชบุรี เปิดให้เข้าชมอย่างเป็นทางการเมื่อวันที่ 14 ตุลาคม พ.ศ. 2534 โดยสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาสยามบรมราชกุมารี เสด็จพระราชดำเนินมาเป็นประธานในพิธีเปิด อาคารที่จัดแสดงในเวลานั้น มีเพียงอาคารนิทรรศการถาวร ต่อมากรมศิลปากรได้บูรณะและเปิดใช้อาคารส่วนบริการ ตั้งอยู่ด้านหน้าอาคารนิทรรศการถาวร

อาคารนิทรรศการถาวรสร้างขึ้นในรัชสมัยของพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 6 เพื่อใช้เป็นที่ว่าการเมืองราชบุรีและที่ว่าการมณฑลราชบุรี ต่อมาในปีพ.ศ. 2476 เมื่อมีการประกาศยกเลิกระบอบการปกครองแบบมณฑลเทศาภิบาล และมีการจัดระเบียบการปกครองขึ้นใหม่เป็นจังหวัดและอำเภอ อาคารหลังนี้ได้มีการปรับเปลี่ยนเป็นศาลากลางจังหวัดราชบุรีจนถึงวันที่ 6 กรกฎาคม 2524 เมื่อได้มีการย้ายไปใช้ศาลากลางจังหวัดราชบุรีหลังปัจจุบัน หลังจากนั้นในปีพ.ศ. 2520 กรมศิลปากรได้ประกาศขึ้นทะเบียนอาคารหลังนี้เป็นโบราณสถานของชาติ ต่อมากรมศิลปากรได้ขอใช้อาคารเพื่อจัดตั้งเป็นพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติราชบุรี โดยได้บูรณะอาคารในปีพ.ศ. 2528 – 2529 และเปิดให้เข้าชมในปี พ.ศ. 2534 ปัจจุบันจัดแสดงทั้งสิ้น 10 ห้อง ได้แก่ ห้องธรณีวิทยา ห้องก่อนประวัติศาสตร์ ห้องทวารวดี ห้องลพบุรี ห้องอยุธยา ห้องรัตนโกสินทร์ ห้องราชบุรีวันนี้ ห้องวัฒนธรรมพื้นบ้าน ห้องโอ่งมังกร และห้องกีฬา

ผังพื้นอาคารนิทรรศการถาวรเป็นรูปสี่เหลี่ยมผืนผ้าแบบตึกสี่หลังล้อมสนามสี่เหลี่ยม มีตึกกลางคั่นแบ่งสนามเป็น 2 ส่วน ซึ่งจัดเป็นสวนภายในบรรยากาศเรียบง่ายและร่มรื่นสวยงาม ขนาดอาคารกว้าง 30 เมตร และยาว 57 เมตร และขนาดสนามกลางอาคารทั้ง 2 สนาม กว้าง 13 เมตร และยาว 17 เมตร ลักษณะอาคารเป็นแบบอาคารก่ออิฐฉาบปูนชั้นเดียวยกพื้นสูง ผนังด้านนอกทึบไม่มีระเบียง หลังคาทรงปั้นหยามุงกระเบื้องซีเมนต์รูปว่าว จุดเด่นอยู่ที่มุขกลางที่มีมุขโถงยื่นออกมาเป็นที่เทียบรถ ผนังมุขเป็นเสาสี่เหลี่ยมใหญ่เรียงชิดกัน ข้างละ 3 ต้น รับคานเครื่องบนประดับหน้าบันทรงโค้งหลายตอนแบบศิลปะตะวันตก กลางหน้าบันประดับปูนปั้นตราครุฑ ประตูหน้าต่างเป็นบานเกล็ดไม้ ด้านบนเป็นช่องแสงกรุกระจก เหนือหน้าต่างประดับลายปูนปั้น

อาคารส่วนบริการ สร้างขึ้นในรัชสมัยของพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 5 เพื่อใช้เป็นจวนที่พักของสมเด็จเจ้าพระยาบรมมหาศรีสุริยวงศ์ (ช่วง บุนนาค) ผู้สำเร็จราชการแผ่นดินในสมัยต้นรัชกาลที่ 5 ต่อมาอาคารถูกเปลี่ยนการใช้สอยอีกหลายครั้ง คือ กองบัญชาการรัฐบาลมณฑลราชบุรี จวนที่พักของเจ้าเมืองราชบุรี ที่ทำการสมาคมส่งเสริมวัฒนธรรมหญิงราชบุรี และห้องสมุดประชาชนราชบุรี ตามลำดับ ต่อมาห้องสมุดประชาชนได้ย้ายไปอยู่ที่ห้องสมุดประชาชนเฉลิมราชบุรีซึ่งสร้างขึ้นใหม่ หลังจากนั้น ในปี พ.ศ. 2539 กรมศิลปากรได้ขออนุญาตกรมธนารักษ์ในการใช้อาคารและบริเวณโดยรอบ และเริ่มดำเนินการบูรณะอาคารและปรับปรุงภูมิทัศน์โดยรอบ ปัจจุบัน พื้นที่ชั้นล่างของอาคารเป็นส่วนจัดนิทรรศการหมุนเวียน ส่วนพื้นที่ชั้นสองเป็นสำนักงาน และคลังศิลปโบราณวัตถุ

อาคารบริการเป็นอาคารครึ่งตึกครึ่งไม้สองชั้น ลักษณะสถาปัตยกรรมแบบตะวันตก ผังพื้นอาคารเป็นรูปสี่เหลี่ยมผืนผ้า หลังคาอาคารเป็นหลังคาแฝดทรงปั้นหยา มุขด้านหน้าอาคารเป็นหลังคาจั่ว ทั้งหมดมุงด้วยกระเบื้องซีเมนต์รูปว่าว

ตลอดระยะเวลาที่ผ่าน พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ ราชบุรี ได้รับการดูแลรักษาเป็นอย่างดี ทำให้อาคารนิทรรศการถาวร อาคารส่วนบริการ และพื้นที่โดยรอบยังคงมีสภาพที่สมบูรณ์ สามารถเป็นตัวอย่างของสถาปัตยกรรมในสมัยรัชกาลที่ 5 และรัชกาลที่ 6 ที่ยังคงรักษารูปแบบและวัสดุดั้งเดิมเอาไว้ได้

Copyright 2013 by KMITL. All rights reserved.