header
  หน้าหลัก | จังหวัดกาญจนบุรี | จังหวัดราชบุรี | จังหวัดสมุทรสงคราม | ภาพถ่ายโครงการ| แผนที่โครงการ |  

 

    วัตถุประสงค์โครงการ

    ขอบเขตงานวิจัย
    ภูมิอากาศ
    คณะผู้จัดทำโครงการ
    ดาวโหลดข้อมูล
 
ร9. หอศิลป์ร่วมสมัย Tao Hong Tai d Kunst

ที่ตั้ง: เลขที่ 323 ถนนวรเดช ตำบลหน้าเมือง อำเภอเมือง จังหวัดราชบุรี
ละติจูด 13° 32' 27.97" เหนือ
ลองจิจูด 99° 49' 7.13" ตะวันออก

ประวัติโดยสังเขป

อาคารหอศิลป์ร่วมสมัย Tao Hong Tai d Kunst เกิดจากการปรับปรุงอาคารเดิมซึ่งเป็นอาคารไม้สองชั้น ใต้ถุนโล่ง และมีเรือนเล็ก 2 หลัง คือ เรือนครัวและเรือนเก็บของ หลังคาทรงปั้นหยา มุขด้านหน้าเป็นหลังคาจั่ว ประดับซุ้มจั่วด้วยลวดลายไม้ฉลุ ลายพันธุ์พฤกษา หน้าต่างเป็นบานเกล็ดไม้ มีช่องแสงเหนือหน้าต่างเป็นกระจกสีโบราณ รูปแบบทางสถาปัตยกรรมของอาคารได้รับอิทธิพลจากบ้านยุคกลางของยุโรปผสมกับเรือนพื้นถิ่นแบบบังกะโลของเอเชีย จากเอกสารโฉนดที่ดิน พบว่าพื้นที่ตั้งของอาคารได้รับการออกโฉนดในสมัยรัชกาลที่ 5 แต่สันนิษฐานว่า อาคารหลังนี้น่าจะถูกสร้างขึ้นในปลายสมัยรัชกาลที่ 5 โดยผู้ครอบครองเดิม คือ ทนายแช่ม สัมพันธารักษ์ ใช้งบประมาณค่าแรงในการก่อสร้างเป็นจำนวน 70 บาท

อาคารหลังนี้ได้ถูกดัดแปลงเป็นสำนักงานทนายความ คลินิกแพทย์ บริษัทท่ารถเมล์ และต่อมาถูกทิ้งร้างไว้นานหลายปี จนมีสภาพทรุดโทรม แต่ยังคงรักษาลักษณะทางสถาปัตยกรรมที่มีคุณค่าเอาไว้ได้ ต่อมาในปี พ.ศ. 2546 คุณวศินบุรี สุพานิชวรภาชน์ และคุณพ่อ ซึ่งเป็นเจ้าของโรงงานโอ่งมังกร เถ้า ฮง ไถ่ จังหวัดราชบุรี ได้ซื้ออาคารนี้จากเจ้าของเดิม เพื่อใช้ทำเป็นหอศิลป์ร่วมสมัยแห่งแรกของจังหวัดราชบุรี เป็นสถานที่สำหรับให้ความรู้ทางด้านศิลปะแก่ชุมชน และเป็นที่แสดงงานของศิลปินไทยและต่างชาติ โดยสถาปนิกและทีมผู้ออกแบบทำการศึกษารายละเอียดในการบูรณะและปรับเปลี่ยนพื้นที่ใช้สอยของอาคารเดิมให้เป็นหอศิลป์ร่วมสมัย มีพิธีเปิดใช้อาคารนี้อย่างเป็นทางการในวันที่ 4 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2554 หลังจากนั้น สมาคมสถาปนิกสยามในพระบรมราชูปถัมภ ์ได้มอบรางวัลอนุรักษ์ศิลปสถาปัตยกรรมดีเด่นให้กับอาคารหลังนี้

การบูรณะอาคารแสดงให้เห็นถึงความพยายามในการปรับปรุงฟื้นฟูอาคารไม้ที่มีลักษณะทางสถาปัตยกรรมที่สวยงามโดยคงรูปแบบดั้งเดิมของอาคารไว้ได้ และสามารถปรับเปลี่ยนการใช้สอยภายในใหม่ โดยไม่ต้องมีการเปลี่ยนแปลงของโครงสร้างมากนัก ถือว่าเป็นการช่วยรักษามรดกทางประวัติศาสตร์ และสถาปัตยกรรมที่มีคุณค่าของเมืองราชบุรี ในการบูรณะ ได้รื้อเรือนเล็ก 2 หลังออก เพื่อใช้พื้นที่สำหรับส่วนต่อเติมใหม่ ส่วนอาคารไม้สองชั้นเดิมได้รับการยกให้สูงจากพื้นถนนประมาณ 2 เมตร กลายเป็นอาคารสูง 3 ชั้น พื้นที่ใช้สอยของหอศิลป์ร่วมสมัยในชั้นที่ 1 ประกอบด้วยส่วนจัดแสดงงาน ห้องเตรียมอาหาร และห้องพักผู้ดูแลอาคาร ชั้นที่ 2 ประกอบด้วยห้องจัดแสดงงาน ส่วนขายเครื่องดื่มและของที่ระลึก และห้องน้ำ ชั้นที่ 3 ประกอบด้วยห้องจัดกิจกรรม ห้องพักและห้องน้ำสำหรับศิลปิน ด้านหน้าอาคารมีบันไดคอนกรีตขึ้นมาที่ชั้น 2 พื้นที่ระหว่างอาคารไม้สองชั้นเดิมและส่วนต่อเติม ด้านหลังเป็นสวน ประตูและหน้าต่างบานเกล็ดไม้ ส่วนต่อเติมใหม่เป็นแบบร่วมสมัย เพื่อให้เกิดความผสมผสานระหว่างความมีคุณค่า ของอาคารเดิมกับอาคารใหม่

Copyright 2013 by KMITL. All rights reserved.