header
  หน้าหลัก | จังหวัดกาญจนบุรี | จังหวัดราชบุรี | จังหวัดสมุทรสงคราม | ภาพถ่ายโครงการ| แผนที่โครงการ |  

 

    วัตถุประสงค์โครงการ

    ขอบเขตงานวิจัย
    ภูมิอากาศ
    คณะผู้จัดทำโครงการ
    ดาวโหลดข้อมูล
 
ส10. ชุมชนริมคลองอัมพวา

ที่ตั้ง: ตำบลอัมพวา อำเภออัมพวา จังหวัดสมุทรสงคราม
ละติจูด 13° 25' 28.35" เหนือ
ลองจิจูด 99° 57' 17.48" ตะวันออก
รูปแบบสถาปัตยกรรม

ประวัติโดยสังเขป

อัมพวาเป็นเมืองที่ความสำคัญทางประวัติศาสตร์และเกี่ยวข้องกับสถาบันพระมหากษัตริย์เนื่องจากเป็นเมืองที่ประทับของพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราช รัชกาลที่ 1 เป็นเมืองพระราชสมภพของพระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัย รัชกาลที่ 2 เป็นเมืองราชนิกุล คือ นิวาสเดิมของกรมสมเด็จพระอมรินทรามาตย์ พระบรมราชินีในรัชกาลที่ 1 และสถานที่พระราชสมภพของกรมสมเด็จพระศรีสุริเยนทรามาตย์ พระบรมราชินีในรัชกาลที่ 2 พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 5 เสด็จประพาสต้น ในปี พ.ศ. 2447 และ พ.ศ. 2452 โดยเฉพาะบริเวณบ้านขุนวิชิตสมรรถการซึ่งเป็นนายอำเภออัมพวาในสมัยนั้น และพระตำหนักอัมพวาของสมเด็จเจ้าฟ้าบริพัตรสุขุมพันธ์ กรมพระนครสวรรค์วรพินิต (ถูกรื้อย้ายมาไว้ที่วังสวนผักกาด กรุงเทพมหานคร) นอกจากนี้ ยังมีประวัติการตั้งถิ่นฐานของชุมชนริมน้ำมาอย่างน้อยตั้งแต่สมัยปลายกรุงศรีอยุธยา (เดิมเป็นที่รู้จักในชื่อ บางช้าง) ทั้งในรูปแบบของชุมชนชาวสวน (ดังคำกล่าว บางช้างสวนนอก บางกอกสวนใน) และศูนย์กลางทางการค้าแลกเปลี่ยน (ตลาดน้ำ)

ชุมชนริมคลองอัมพวาเป็นชุมชนริมน้ำที่ยังคงรักษาเอกลักษณ์ด้านสถาปัตยกรรม และภูมิสถาปัตยกรรมไว้ได้อย่างน่าชื่นชม เมื่อเข้ามาในชุมชนแห่งนี้ก็จะพบเห็นอาคารบ้านเรือนที่ทรงคุณค่าทางด้านประวัติศาสตร์ และสถาปัตยกรรมมากมายที่กระจายอยู่ในพื้นที่ชุมชน มีทั้งศาสนสถาน อาคารราชการ และสถาบัน รวมถึงบ้านเรือนที่พักอาศัยของประชาชน ซึ่งอาคารแต่ละหลังและสถานที่แต่ละแห่งล้วนบอกเล่าความยาวนานของประวัติศาสตร์การตั้งถิ่นฐานของชุมชนอัมพวาได้เป็นอย่างดี สถาปัตยกรรมของชุมชนสามารถจำแนกออกได้เป็น 5 ประเภท ได้แก่ เรือนแถวริมน้ำ บ้านเรือนไทยโบราณ บ้านเรือนไทยพื้นบ้าน บ้านเรือนแพเดิม และบ้านเรือนไทยร่วมสมัย อาคารที่มีสถาปัตยกรรมที่โดดเด่น ได้แก่ บ้านนายอำเภอเก่าซึ่งเป็นบ้านเรือนไทยขนาดใหญ่ อุทยาน ร.2 อาคารสำนักงานเทศบาลตำบลอัมพวา ตึกแถวเก่า บ้านเรือนริมน้ำและในสวนที่มีรูปแบบสถาปัตยกรรมพื้นถิ่น มีวัดอัมพวันเจติยารามเป็นโบราณสถานขึ้นทะเบียนโดยกรมศิลปากร

ปัจจุบันชุมชนริมคลองอัมพวาถือได้ว่าเป็นพื้นที่ที่มีคุณค่าสูงในแง่ความเป็นแหล่งมรดกทางวัฒนธรรม มีความโดดเด่นทางด้านประวัติศาสตร์เกี่ยวข้องกับต้นราชวงศ์จักรี และการตั้งถิ่นฐานของชุมชนชาวสวนมาช้านาน รวมถึงความเป็นศูนย์กลางทางการค้าขายดั้งเดิม มีระบบโครงข่ายคู คลอง ที่มีคลองอัมพวาเป็นคลองสายหลัก ซึ่งเป็นปัจจัยสำคัญที่ทำให้เกิดวิถีชีวิตที่เกี่ยวข้องกับสายน้ำ รวมทั้งอาคารเรือนแถวไม้เพื่อการค้าที่หันหน้าสู่คลองเป็นแนวยาวตลอดสองฝั่งคลอง ซึ่งถือว่าหายาก และยังคงสภาพให้เห็นอยู่อย่างค่อนข้างสมบูรณ์

Copyright 2013 by KMITL. All rights reserved.