header
  หน้าหลัก | จังหวัดกาญจนบุรี | จังหวัดราชบุรี | จังหวัดสมุทรสงคราม | ภาพถ่ายโครงการ| แผนที่โครงการ |  

 

    วัตถุประสงค์โครงการ

    ขอบเขตงานวิจัย
    ภูมิอากาศ
    คณะผู้จัดทำโครงการ
    ดาวโหลดข้อมูล
 
ส3. ชุมชนบางน้อย

ที่ตั้ง: ตำบลกระดังงา อำเภอบางคนที จังหวัดสมุทรสงคราม
ละติจูด 13° 27' 46.04" เหนือ
ลองจิจูด 99° 56' 36.95" ตะวันออก

ประวัติโดยสังเขป

ในอดีตคลองบางน้อยเป็นหนึ่งในเส้นทางการคมนาคมสายหลักในโครงข่ายลุ่มน้ำแม่กลองและแม่น้ำท่าจีน มีการตั้งถิ่นฐานของชาวสวนริมคลองมาแต่เดิม เป็นเส้นทางเสด็จประพาสต้นของพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 5 เคยมีตลาดน้ำบริเวณปากคลองเรื่อยมาถึงหน้าวัดเกาะแก้ว มีขึ้นในวันขึ้น – แรม 3 ค่ำ 8 ค่ำ และ 13 ค่ำ นัดบางน้อยเป็นตลาดนัดที่ใหญ่มาก มีเรือมาติดตลาดกันนัดละหลายร้อยลำ ทั้งชาวสวนในละแวกนั้นและต่างถิ่น เช่น อยุธยา ปทุมธานี กรุงเทพมหานคร ราชบุรี นครปฐม และสุพรรณบุรี เป็นต้น มีวัดบางน้อยเป็นศูนย์กลางของชุมชน เคยมีการละเล่นมหรสพ คือ หนังใหญ่ ที่โด่งดังมากแต่เกิดไฟไหม้จึงเหลือเก็บไว้เพียง 2 ชิ้นในปัจจุบัน กองทัพพม่าเคยตั้งกองทัพอยู่ที่วัดเกาะแก้ว บริเวณปากคลองโดยมีหลักฐานทางประวัติศาสตร์ คือ มีเสาตั้งไว้ที่วัดเกาะแก้ว ที่หัวเสามีตัวกินรี สมัยก่อนมีเสาที่หัวเสาเป็นหงส์อยู่ แต่ได้นำไปเก็บแล้ว

อาคารส่วนใหญ่เป็นบ้านพักอาศัยอยู่ริมน้ำ มีรูปแบบสถาปัตยกรรมพื้นถิ่น คือ ชั้นเดียว มีเสาสูงแช่อยู่ในน้ำ หลังคาจั่วหรือปั้นหยา ช่วงที่เป็นย่านหนาแน่นมักจะอยู่บริเวณจุดตัดของคลองสายหลัก และเป็นย่านการค้า วัด สถานที่ราชการ โรงเรียน สถาปัตยกรรมมีลักษณะเป็นเรือนแถวไม้ ยาวขนานไปตามแนวคลอง เช่นที่ปากคลอง วัดปากง่าม และวัดบางน้อย นอกจากนี้ ยังมีบ้านพิพิธภัณฑ์ตั้งเซียมฮะ ตั้งอยู่บริเวณปากคลองบางน้อย เป็นพิพิธภัณฑ์พื้นถิ่นที่รวบรวมเครื่องมือและของใช้โบราณ จัดแสดงให้ผู้สนใจเข้าชม

ปัจจุบันถึงแม้ว่าความเป็นศูนย์กลางของวิถีชีวิตริมน้ำ ทั้งการค้าขายแลกเปลี่ยนของนัดตลาดน้ำ และเส้นทางสัญจรหลักที่เชื่อมต่อเป็นโครงข่าย จะได้ลดบทบาทความสำคัญลงจนแทบไม่หลงเหลือร่องรอย เช่นเดียวกับวิถีชีวิตชาวสวนเตียน ซึ่งเพาะปลูกพืชผักประเภทไม้ล้มลุกต่างๆ ภายในคันล้อมที่ได้ยกพื้นดินขึ้นสูง ที่หาผู้ที่มีความชำนาญได้น้อยลง ชาวสวนบางน้อยได้หันมาให้ความสำคัญกับการปลูกสวนมะพร้าว ส้มโอ ลิ้นจี่ แทนที่สวนเตียน แต่ลักษณะสถาปัตยกรรมของชุมชนบางน้อยยังคงความสมบูรณ์ไว้ได้ อย่างดี รวมถึงยังสามารถพบเห็นชาวบ้านบางส่วน ที่ยังคงหาเลี้ยงชีพด้วยการจับปลา ตกกุ้งอยู่ตามแม่น้ำลำคลอง

Copyright 2013 by KMITL. All rights reserved.