header
  หน้าหลัก | จังหวัดกาญจนบุรี | จังหวัดราชบุรี | จังหวัดสมุทรสงคราม | ภาพถ่ายโครงการ| แผนที่โครงการ |  

 

    วัตถุประสงค์โครงการ

    ขอบเขตงานวิจัย
    ภูมิอากาศ
    คณะผู้จัดทำโครงการ
    ดาวโหลดข้อมูล
 
ส9. วัดอัมพวันเจติยารามวรวิหาร

ที่ตั้ง: ตำบลอัมพวา อำเภออัมพวา จังหวัดสมุทรสงคราม
ละติจูด 13° 25' 33.92" เหนือ
ลองจิจูด 99° 57' 13.04" ตะวันออก

ประวัติโดยสังเขป

วัดอัมพวันเจติยารามวรวิหารตั้งอยู่บริเวณปากคลองอัมพวาด้านเหนือ เดิมเรียกว่า “วัดอัมพวา” ต่อมาพระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 3 ได้พระราชทานนามใหม่ว่า “วัดอัมพวันเจติยาราม” มีความหมายว่า วัดที่มีเจดีย์และสวนมะม่วง เป็นที่รื่นรมย์และเกษมสำราญน่าเคารพบูชา วัดนี้เป็นวัดต้นราชวงศ์ราชนิกูลโดยสมเด็จพระรูปสิริโสภาคย์มหานาคนารี (สั้น) พระชนนีในสมเด็จพระอมรินทรามาตย์ (นาก) ทรงบริจาคที่ดิน และสมเด็จพระอมรินทรามาตย์ได้ทรงรวบรวมพระพี่พระน้องร่วมกันสร้างเป็นวัดขึ้นมา ในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 3 ทรงโปรดเกล้าโปรดกระหม่อมให้มีการบูรณะใหม่และทรงสร้างพระปรางค์เป็นที่บรรจุพระบรมสรีรังคารและพระบรมอัฐิบางส่วนของพระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัยพระบรมราชชนก นอกจากนี้ยังทรงสร้างพระวิหารและพระที่นั่งทรงธรรมขึ้นอีกด้วย ในปี พ.ศ. 2500 กรมศิลปากรได้ประกาศขึ้นทะเบียนวัดอัมพวันเจติยารามวรวิหารเป็นโบราณสถานของชาติ ภายในวัดมีโบราณสถานและโบราณวัตถุที่สำคัญ ได้แก่

  1. พระอุโบสถ มีลักษณะรูปทรงเหมือนอุโบสถวัดสุวรรณดาราม จังหวัดพระนครศรีอยุธยา ที่สร้างขึ้นในสมัยรัชกาลที่ 1 ภายในพระอุโบสถของวัดอัมพวันเจติยารามมีจิตกรรมฝาผนังที่สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารีทรงโปรดเกล้าโปรดกระหม่อม ให้เขียนขึ้นตามแบบศิลปะสมัยรัตนโกสินทร์ เป็นเรื่องราวเกี่ยวกับพระราชประวัติของพระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัยและเรื่องราวเกี่ยวกับบทพระราชนิพนธ์ เรื่อง สังข์ทอง ไกรทอง อิเหนา และคาวี ส่วนภาพจิตรกรรมฝาผนังบริเวณระหว่างช่องประตูด้านหน้า ซึ่งเป็นภาพการเสด็จราชดำเนินเลียบพระนครโดยกระบวนพยุหยาตราทางสถลมารค เป็นส่วนที่สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารีทรงลงฝีระหัตถ์พระพักตร์ของสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัย หน้าทหารกลอง และต้นไม้ข้างป้อมริมกำแพง
  2. พระบรมรูปพระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัย รัชกาลที่ 2 ประดิษฐานอยู่ใกล้พระอุโบสถทางด้านหน้าของพระวิหาร โดยทำการหล่อที่กรมศิลปากร พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวภูมิพลอดุลยเดช และสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิตติ์พระบรมราชินีนาถทรงเสด็จพระราชดำเนินเททองเมื่อวันที่ 28 มิถุนายน พ.ศ. 2509 และสมเด็จพระบรมโอรสาธิราชสยามมกุฎราชกุมารได้เสด็จมาทรงเปิดเมื่อวันที่ 30 มีนาคม พ.ศ. 2520
  3. พระปรางค์ อยู่ด้านในพระวิหาร พระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงโปรดเกล้าโปรดกระหม่อมให้สร้างขึ้นบริเวณที่พระราชสมภพของพระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัย เพื่อบรรจุพระบรมสรีรังคารและพระบรมอัฐิบางส่วนของพระบรมราชชนก
  4. พระที่นั่งทรงธรรม เดิมเป็นตำหนักไม้ที่ประทับของสมเด็จพระสิริโสภาคย์มหานาคนารี ก่อนรัชกาลพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราช ต่อมาในรัชกาลพระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัยได้พระราชทานนามว่า “พระที่นั่งทรงธรรม” เพราะสมเด็จพระรูปสิริโสภาคย์มหานาคนารี เมื่อคราวบวชชีได้ทรงฟังธรรมในที่นี่ประจำ ต่อมาในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงโปรดเกล้าโปรดกระหม่อมให้ก่อสร้างเป็นอาคารก่ออิฐถือปูนมีลักษณะปรากฏดังปัจจุบัน ในคราวบูรณปฏิสังขรณ์ครั้งใหญ่ เมื่อปี พ.ศ. 2538 สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี ทรงพระราชทานพระนามาภิไธย่อ (สธ) ไว้ที่หน้าบัน ภายในพระที่นั่งทรงธรรมมีพระประธาน และรอยพระพุทธบาทจำลองประดิษฐานอยู่
  5. กุฏิใหญ่ มีลักษณะเป็นเรือนหมู่ทรงไทยใต้ถุนสูง ด้านเหนือเป็นบันไดใหญ่ ด้านใต้เป็นหอสวดมนต์ มีหอฉันตรงกลาง ของเดิมเป็นฝีมือช่างในสมัยรัชกาลที่ 3 ในคราวบูรณปฏิสังขรณ์ครั้งใหญ่ และมีการบูรณปฏิสังขรณ์บ้างในรัชกาลต่อ ๆ มาจนถึงรัชกาลปัจจุบัน
  6. พระตำหนัก มีอยู่ 2 พระตำหนัก คือ พระตำหนักใหญ่อยู่ทางด้านทิศใต้ของวัด และพระตำหนักเล็กอยู่ทางด้านทิศตะวันตก พระตำหนักทั้งสองเดิมเป็นเรือนไม้สักทรงไทยฝาเฟี้ยม ซึ่งพระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัยทรงสร้างไว้ที่สวนขวาในพระบรมมหาราชวัง ภายหลังทรงพระราชทานแก่สมเด็จพระมหาสมณเจ้ากรมพระยาวชิรญาณวโรรส และสมเด็จพระมหาสมณเจ้าฯ ได้ประทานออกมาไว้ที่วัดอัมพวันเจติยารามพร้อมกับแท่นบรรทมของรัชกาลที่ 2

  7. พระวิหาร อยู่หลังพระอุโบสถเยื้องมาทางขวา สร้างในรัชกาลที่ 3 ภายในพระวิหารมีพระนอนองค์ใหญ่ ตั้งแต่พระเศียรจนถึงพระบาทวัดได้ 19 คอก มีพระพุทธรูปปูนปั้นประดิษฐานอยู่รอบระเบียงพระวิหาร จำนวน 52 องค์
Copyright 2013 by KMITL. All rights reserved.